เด็กผู้เยาว์ที่บิดามารดาถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องตั้งผู้ปกครอง เพื่อมาคุ้มครองดูแล ให้มาทำหน้าที่จนกว่าเด็กจะบรรลุนิติภาวะ
วิธีการตั้งผู้ปกครอง : เฉพาะโดยคำสั่งศาลเท่านั้น โดยมีบุคคลที่จะสามารถขอได้ ดังนี้
1 ญาติของเด็ก
2 อัยการ
3 บุคคลซึ่งพินัยกรรมระบุให้เป็นผู้ปกครอง
คุณสมบัติของผู้ปกครอง
1 บรรลุนิติภาวะ
2 ไม่เป็นบุคคลไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
3 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
4 ไม่เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์
5 ไม่เป็นบุคคลซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ หรือญาติสนิทของผู้เยาว์
6 ไม่เป็นบุคคลที่บิดาหรือมารดาห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง
สิทธิและหน้าที่
1 ผู้ปกครองต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นศาลอาจสั่งถอนได้ และยังต้องทำบัญชีทรัพย์สินส่งต่อศาลปีละ 1 ครั้ง
2 ถ้ามีหนี้สินต่อกัน ต้องแจ้งต่อศาลก่อนลงมือทำบัญชีทรัพย์สิน
3 ผู้ปกครองเป็นผู้แทนของผู้เยาว์ตามกฎหมาย มีสิทธิเช่นเดียวกับบิดามารดา รวมทั้งอำนาจในการจัดการทรัพย์สิน
4 หากผู้เยาว์อายุเกิน 15 ปี การจัดการทรัพย์สินต้องปรึกษาผู้เยาว์ก่อน
5 ผู้อยู่ในปกครองไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ปกครอง
6 ผู้อยู่ในปกครองไม่มีสิทธิใช้นามสกุลผู้ปกครอง
7 ผู้อยู่ในปกครองมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาผู้ปกครองได้
8 ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมต่อกัน
เมื่อความปกครองสิ้นสุดแล้ว ผู้ปกครองต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินพร้อมทั้งบัญชีคืนให้ผู้อยู่ในปกครองโดยเร็ว หากนำเงินไปใช้ส่วนตัว ต้องเสียดอกเบี้ย 15% ต่อปี นับแต่วันที่นำเงินไปใช้
เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง
1 สูติบัตร
2 ใบมรณบัตรของบิดามารดาของผู้เยาว์
3 บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทะเบียนบ้านของผู้ร้อง
4 ใบเปลี่ยนชื่อตัว / ชื่อสกุล (ถ้ามี)
5 ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ของผู้ร้อง กับผู้เยาว์
6 บัญชีเครือญาติ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1585 บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้
ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนตามมาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ศาลจะตั้งผู้ปกครองในส่วนที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองนั้นก็ได้ หรือในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินตามมาตรา 1582 วรรคสอง ศาลจะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินก็ได้
มาตรา 1586 ผู้ปกครองตามมาตรา 1585 นั้นให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง
ภายใต้บังคับมาตรา 1590 การตั้งผู้ปกครองนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม เว้นแต่พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับหรือบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนั้นเป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองตามมาตรา 1587
มาตรา 1587 บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วอาจถูกตั้งเป็นผู้ปกครองได้ เว้นแต่
(1) ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(2) ผู้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย
(3) ผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์
(4) ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ ผู้บุพการีหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดากับผู้เยาว์
(5) ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุชื่อห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง