คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
1. คดีตามมาตรา 9 วรรค 1 (1) การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มี 8 ลักษณะ
(1) กระทำโดยไม่มีอำนาจ คือ หน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกฟ้อง กระทำการออกคำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด โดยทีไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจไว้
(2) กระทำนอกเหนืออำนาจ เป็นเรื่องของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมายแต่กระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้
(3) กระทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกกฎหรือออกคำสั่ง ซึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับที่ให้อำนาจไว้
(4) กระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น เช่น กฎหมายกำหนดรูปแบบและขั้นตอนของการออกคำสั่งไว้และวางหลักไว้ว่า ผู้ออกคำสั่งจะต้องให้เหตุผลประกอบคำสั่ง ถ้าคำสั่งไม่มีเหตุผลประกอบเป็นการผิดแบบไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด
(5) กระทำโดยไม่สุจริต เป็นการใช้อำนาจบิดเบือนโดยมีเจตนา หรือวัตถุประสงค์นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวหรือของผู้อื่น ไม่ได้กระทำการนั้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามวัตถุประสงค์ของกฎมาย
(6) การกระทำที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำโดยขาดหลักความเสมอภาค โดยใช้เกณฑ์ ทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ความคิดทางการเมือง มาเป็นตัวตัดสิน เป็นต้น
(7) เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร
(8) การใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ อำนาจดุลยพินิจ คือ การที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการรักษาประโยชน์สาธารณะ โดยมีเหตุผลอันสมควรแล้ว ล้วนเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบแล้ว
2. คดีที่ฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วแต่กรณีละเลยต่อหน้าที่ทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้ หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นภายในเวลาที่ศาลกำหนด ตามมาตรา 9 วรรค 1 (2) เช่น ประชาชนร้องเรียนเจ้าหน้าที่เนื่องจากบริษัทกำจัดขยะทำการกลบฝังหรือทำลายขยะไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ส่งกลิ่นเหม็น ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ละเลยไม่ดำเนินการสั่งให้บริษัทระงับการกระทำดังกล่าว ถือเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรค 1 (2) คำสั่งศาลปกครองสูงสุด 106/44
3. เป็นกรณีการละเมิดและความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเยียวยาความเสียหาย โดยสั่งให้ใช้เงินส่งมอบทรัพย์สิน หรือกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ มีเงื่อนไข 2 ประการ
(1) ต้องเป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ออกคำสั่ง มักใช้ใบอนุญาตโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
(2) เมื่อเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็ต้องประกอบด้วย 4 ข้อ
1. การใช้อำนาจตามกฎหมาย
2. การออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น
3. ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เช่น เจ้าหน้าที่ละเลยไม่พิจารณาคำขออนุญาตเปิดกิจการโรงงาน เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย
4. การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
4. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ต้องดูว่าเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เป็นกรณีที่คู่ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงิน ค่าเสียหาย ฐานผิดสัญญาและส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อสัญญา
5. เป็นคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วแต่กรณี ฟ้องเอกชนต่อศาล และขอให้ศาลบังคับให้เอกชนทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กรณีบุคคลก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นรุกล้ำเข้าในน่านน้ำ ซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือในทะเล หรือชายหาดของทะเล โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เจ้าท่ามีอำนาจออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้นออกไปให้พ้นทางน้ำ ถ้าผู้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมเจ้าท่า กรมเจ้าท่าไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปจัดการรื้อถอนอาคารนั้นด้วยตนเอง แต่กรมเจ้าท่าต้องไปฟ้องศาลขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้ผู้รับคำสั่งรื้อถอนอาคารนั้น
6. เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง เช่น ข้อพิพาทตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาทตามสัญญาทางปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจเหนือคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง จึงต้องไปขอที่ศาลปกครอง
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรค 2
1. การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
2. การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
3. คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ
– ศาลเยาวชนและครอบครัว – ศาลแรงงาน
– ศาลภาษีอากร
– ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
– ศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ