คดีผิดสัญญาซื้อขายสินค้า

          ผู้ซื้อทำสัญญาซื้อขายหมูจากผู้ขาย ในราคา 4,000 บาท โดยผู้ซื้อได้รับหมูไปแล้วแต่ตกลงกับผู้ขายว่าจะชำระราคาหมูภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ผู้ขายจึงแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านลงบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน เมื่อถึงกำหนดชำระราคาค่าหมูผู้ซื้อก็ไม่นำเงินมาชำระตามที่ตกลงกันไว้โดยแจ้งว่าไม่มีเงิน ผู้ขายจึงให้ผู้ซื้อเขียนสัญญาซื้อขายย้อนหลังเพื่อเป็นหลักฐานและเป็นประกันว่าจะชำระหนี้ โดยเขียนวันถึงกำหนดชำระหนี้ใหม่เป็นวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 เมื่อถึงกำหนดผู้ซื้อก็ไม่นำเงินมาชำระหนี้อีก ผู้ขายจึงแจ้งความข้อหาฉ้อโกง แต่ตำรวจเรียกมาไกล่เกลี่ยในวันที่ 3 ธันวาคม 2560 โดยผู้ซื้อยินยอมผ่อนเป็นรายเดือนพร้อมดอกเบี้ยและทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้เป็นหลักฐาน แต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ผู้ซื้อก็ไม่นำเงินมาชำระหนี้อีก

ประเด็นคำถาม

  1. ผู้ขายสามารถฟ้องผู้ซื้อในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ได้หรือไม่ พ้นกำหนดอายุความในการฟ้องคดีหรือยังและสามารถเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่
  2. ผู้ขายสามารถฟ้องผู้ซื้อฐานผิดสัญญาซื้อขายได้หรือไม่

กรณีตามปัญหาเป็นการทำสัญญาซื้อขายกันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาไม่เกิน 20,000 บาท จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือก็มีผลบังคับได้ตั้งแต่เมื่อมีการตกลงทำสัญญาและมีการส่งมอบทรัพย์ที่ทำการซื้อขายให้กับผู้ซื้อในวันทำสัญญากันแล้ว ตามมาตรา 453 ประกอบมาตรา 456 วรรคสาม ดังนั้น แม้ว่าจะมาทำสัญญาซื้อขายกันเป็นหนังสือภายหลังก็ไม่ทำให้สัญญาซื้อขายที่มีมาเสียหรือสิ้นผลไปแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อผู้ซื้อไม่ชำระราคาค่าสินค้าตามที่ได้ตกลงกันไว้จึงเป็นการผิดสัญญาซื้อขาย อายุความฟ้องร้องจะเริ่มนับตั้งแต่มีการผิดสัญญาเกิดขึ้น คือวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ทั้งนี้อายุความในเรื่องผิดสัญญาซื้อขายกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้เป็นพิเศษจึงใช้อายุความ 10 ปี ผู้ขายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินค้าต่อผู้ซื้อได้ซึ่งเป็นการผิดสัญญากันทางแพ่งและจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ผู้ขายสามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลแขวงที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดี คือในเขตพื้นที่ที่มีการทำสัญญาซื้อขายกัน หากในพื้นที่นั้นไม่มีศาลแขวงก็สามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลจังหวัดในพื้นที่ที่มีการทำสัญญาซื้อขายกันได้ หากผู้ขายต้องการใช้สิทธิฟ้องคดีจะต้องกระทำภายในอายุความ มิฉะนั้น หากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วลูกหนี้มีสิทธิยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อปฎิเสธการชำระหนี้ได้

     สำหรับความผิดอาญาฐานฉ้อโกง จะต้องมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้อื่นโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นจากข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องให้มา ไม่มีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกลวงเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน แต่เป็นการผิดสัญญากันในทางแพ่งเท่านั้น เว้นแต่ มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผู้ซื้อมีเจตนาที่จะไม่ชำระราคาค่าสินค้ามาแต่แรกแล้ว เช่น อาจจะมีพฤติกรรมซื้อขายกับหลายคนแล้วผิดสัญญาไม่ชำระราคาสินค้า ซึ่งกระทำเหมือนเป็นปกติวิสัยของเขา หรือผู้ขายสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขามีเจตนาที่จะไม่ชำระราคาค่าสินค้ามาตั้งแต่แรก โดยหลอกลวงผู้ขายด้วยการแสร้งทำสัญญาซื้อขายเพื่อให้ได้รับทรัพย์สินไปจากผู้ขายจึงจะถือว่ามีการหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกจึงจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งนี้คดีฉ้อโกงมีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากเป็นความผิดอันยอมความได้ หากผู้เสียหายไม่ฟ้องคดีภายใน 3 เดือน หรือมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้ว่ามีความผิดเกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีย่อมขาดอายุความ

     ในการดำเนินคดีอาญานั้นหากผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอให้จำเลยในคดีดังกล่าวชำระค่าเสียหายในทางแพ่งให้กับผู้เสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1

ข้อกฎหมาย

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35, 453, 456 วรรคสาม และ 486 
  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3), 96 และ 341
  3. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1