คดียักยอกทรัพย์

คดียักยอก เป็นความผิดอันยอมความได้ เจรจากับผู้เสียหาย จบได้ในชั้นตำรวจ ถอนคำร้องทุกข์ คดีอาญาระงับ

  1. หากผู้เสียหายต้องการให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ภายใน 3 เดือน (ขอย้ำนะครับ ) นับแต่วันรู้เรื่องและรู้ตัวผู้การกระทำความผิด(ต้องรู้ทั้งสองเรื่องพร้อมกัน) หากพ้น 3 เดือน ไม่ไปแจ้งความร้องทุกข์ คดีจะระงับหมดอายุความ ( 10 ปี )
  2. หากผู้เสียหายต้องการจะฟ้องเอง ผู้เสียหายก็จะต้องไปร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน เช่นกัน เพื่อเอาสิทธิฟ้องภายใน อายุความ 10 ปี ( เหมือนดาวน์ก่อน ผ่อนทีหลัง งั้นหมดสิทธิ) แต่ถ้าไม่ฟ้องเองพ้นเกิน 10 ปีแล้ว คดีระงับหมดอายุความ )
  3. แม้ผู้เสียหายได้รับคืนทรัพย์สินแล้ว แต่ไม่ถอนคำร้องทุกข์ คดีไม่ระงับ พนักงานสอบสวนต้องดำเนินคดีต่อไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการศาล
  4. คดีระงับเมื่อผู้เสียหายได้รับชดใช้จนเป็นที่พอใจ และถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คดีอาญาจึงระงับ แม้พนักงานสอบสวนจะส่งฟ้องดำเนินคดี แต่อัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดีก็ระงับ
  5. ในชั้นสอบสอน ผู้ต้องหาควรหาเงินไปเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายบางส่วนพร้อมลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเอาไว้เป็นเหตุบรรเทาโทษในชั้นศาล
  6. กรณี ชดใช้คืนให้ผู้เสียหายทั้งหมด ต้องทำบันทึก พนักงานสอบสวนเป็นพยาน โดยในบันทึกต้องระบุข้อความว่า “ผู้เสียหายได้รับชดใช้คืน……………ครบถ้วนถูกต้องเรียบร้อยแล้ว และไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไปกับ……”

แนวทางแก้ไข 

๑.ชำระหนี้ และโดยให้ผู้เสียหายหรือโจทก์ ถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้องเมื่อชำระหนี้จนครบถ้วยหรือเป็นที่พอใจ ไม่ว่าด้วยการผ่อนชำระหรือชำระเต็มจำนวน

๒.การรับสารภาพต่อศาล และขอจำหน่ายคดีชั่วคราว ผ่อนชำระหนี้

๓.การต่อสู้คดีเพื่อให้พ้นผิดโดยศาลพิพากษายกฟ้อง

๔.การต่อสู้คดี เพื่อขยายระยะเวลาในการหาเงินมาชำระหนี้

ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานยักยอก

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 355 ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่าอันซ่อนหรือฝังไว้โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

มาตรา 96 ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ