การฟ้องคดีเช็คเด้ง และข้อต่อสู้คดีเช็ค
ความผิดอาญาอาญาว่าเช็คเด้งนั้นหลักเกณฑ์เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 ในมาตรา 4 ที่บัญญัติว่า”ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ”
ดังนั้น หากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ครบองค์ประกอบความผิดในบทบัญญัติมาตราดังกล่าวหรือทนายความดำเนินคดีให้หลุดพ้นจากองค์ประกอบ ความผิดตาม พรบ.เช็ค ดังกล่าวได้ย่อมไม่เป็นความผิดอาญาซึ่งพนักงานสอบสวนพนักงานอัยการจะต้องมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาและศาลจะต้องพิพากษายกฟ้อง จำเลย
แนวทางต่อสู้คดีเช็ค
1.ข้อต่อสู้เรื่องวันที่ออกเช็ค คือ ส่งมอบเช็คโดยไม่ได้กรอกวันที่ เท่ากับว่าไม่มีวันที่ออกเช็คมีผลเพียงให้เช็คนั้นสมบูรณ์เพื่อใช้สิทธิฟ้องร้องกันในทางแพ่งเท่านั้น หามีผลทำให้เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คไม่ เพราะถือว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำผิด
1.2 เช็คไม่ลงวันที่ออกเช็ค เท่ากับว่าไม่มีวันที่ เมื่อผู้สั่งจ่ายไม่มีวันที่สั่งให้ธนาคารใช้เงินผู้สั่งจ่ายก็ไม่ต้องเตรียมเงินไว้ในบัญชีที่ฝากอยู่กับธนาคาร เพื่อเอาไว้จ่ายเงินในวันดังกล่าวใช้สิทธิฟ้องร้องกันในทางแพ่งเท่านั้น หามีผลทำให้เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คไม่ เพราะถือว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำผิด
2.ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอม กรรมการนิติบุคคลลงลายมือชื่อไม่ครบ และหรือไม่ประทับตรานิติบุคคล ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ
3. เช็คนั้นต้องออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และขณะออกเช็คผู้ออกเช็คต้องเป็นหนี้อยู่ก่อน
คำพิพากษา ฎีกา 1351 / 2542 การกู้ยืมเงินกันโดยสัญญากู้ยืมเงินมีข้อความระบุในลักษณะว่าเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินผู้กู้ได้นำเช็คหนึ่งฉบับให้ยึดไว้เป็นประกันถือว่าไม่ใช่ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ ที่มีอยู่จริง
พิพากษาศาลฎีกาที่ 634 / 2518 ออกเช็คเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผิดกฎหมายเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีผู้ออกเช็คไม่มีความผิดทางอาญา
ฎีกาที่ 496 / 2537จำนวนเงินต้นในสัญญากู้ยืมเงิน ได้รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว จึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ผิดกฎหมายไม่อาจบังคับชำระได้รวมอยู่ด้วย แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น จำเลยก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3
ออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินต้น ซึ่งรวมดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดอยู่ด้วยหรือว่ามูลหนี้เป็นดอกเบี้ยเป็นโมฆะ จำเลยผู้ออกเช็คไม่มีความผิดทางอาญา (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5043 / 2531)
ได้ออกเช็คลงวันที่ในวันเดียวกันนั้นให้แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์เข้าใจแล้วว่าจำเลยออกเช็คไม่ใช่เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันนั้น แต่เป็นการประกันหนี้เงินกู้ไม่มีความผิดทางอาญา (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279 / 2513)
ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ซึ่งการเล่นแชร์ ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 เช่นในมาตรา 6 มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลราคามากกว่าจำนวน 300,000 บาท การเล่นแชร์ดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ ดังกล่าวจึงเป็นการชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาตาม พรบ.เช็คมาตรา 4( คำพิพากษาศาลฎีกา 427 / 2542)