การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แยกได้ 2 กรณี
1. เจ้าหน้าที่ได้กระทำการละเมิดเนื่องจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ แยกได้ ดังนี้
1) ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่
– ราษฎรได้รับความเสียหาย จะฟ้องเจ้าหน้าที่ทำละเมิดไม่ได้ จะต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวสังกัดอยู่โดยตรง ตาม ม.5 ซึ่งเมื่อหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายแล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่นั้นได้รับกระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานของรัฐ มีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐนั้นได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ได้จงใจหรือว่ากระทำการประมาทเลินเล่ออย่างธรรมดา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องรับผิด ตาม ม.8
– หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐทั้งเจ้าหน้าที่นั้นสังกัดอยู่หรือไม่ก็ตาม การเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ม. 10 ได้บัญญัติให้นำ ม.8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม คือ จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากหน้าเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดได้ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะต้องกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ถ้าไม่ได้จงใจหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างธรรมดา จะเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้
2.) การฟ้องคดี
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(3) ได้กำหนดว่าคดที่พิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดเนื่องจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าจะได้กระทำต่อผู้เสียหายหรือหน่วยงานของรัฐ ก็จะต้องฟ้องคดีที่ศาลปกครองโดยอาศัย ม.9 (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
2. เจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดที่มิใช่ในการปฏิบัติหน้าที่
1) ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่
– ราษฎรที่ได้รับความเสียหาย สามารถฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดได้โดยตรงจะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัวเนื่องจากากรทำละเมิด ตาม ม.6
– หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัดอยู่หรือไม่ก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ม.10 บัญญัติไว้ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2) การฟ้องคดี เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่อยู่ในบังคับของ ม.9 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง จึงต้องนำคดีไปฟ้องที่ศาลยุติธรรม
2021-07-25