การรับบุตรบุญธรรม หมายถึง การรับลูกของคนอื่นมาเลี้ยงดูเสมือนเป็นลูกของตัวเอง ซึ่งจะต้องจดทะเบียนจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/27
1. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และจะต้องมีอายุมากกว่าผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
2. ผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรม ถ้าอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังต่อไปนี้
- 2.1 พ่อและแม่ หรือพ่อหรือแม่แล้วแต่กรณี หากพ่อหรือแม่ตายไปแล้ว หรือถูกถอนอำนาจปกครองไป ก็ต้องได้ความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/21
- 2.2 กรณีไม่มีผู้ให้ความยินยอมดังกล่าว หรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/21 วรรคสอง
- 2.3 กรณีผู้เยาว์เป็นผู้ถูกทอดทิ้ง และอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้สถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนบิดาและมารดา
3. ถ้าผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะต้องให้ความยินยอมในการเป็นบุตรบุญธรรมด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/20
4. ถ้าผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสของตัวเองก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/25 เว้นแต่
- 4.1 คู่สมรสไม่สามารถมาให้ความยินยอมได้ เช่น เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นคนไร้ความสามารถ
- 4.2 คู่สมรสนั้นไปเสียจากภูมิลำเนาของตัวเอง และไม่มีใครทราบข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
กรณีที่คู่สมรสไม่สามารถมาให้ความยินยอมได้ จะต้องไปร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้นเสียก่อน ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสย่อมไม่สมบูรณ์
5. การรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาเป็นบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมายื่นคำขอ พร้อมด้วยหนังสือแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังที่กล่าวมาข้างต้น ที่
- 5.1 ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในกรณีที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร หรือที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือประชาสงเคราะห์จังหวัด กรณีที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด
- 5.2 โดยอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี จะให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไปทำการทดลองเลี้ยงดูเด็กด้วยตนเองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน(ตามพระราชบัญญัติ การรับด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522) ก่อนที่จะทำการอนุญาตให้ไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ยกเว้น กรณีผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายของผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรม ไม่ต้องมีการทดลองเลี้ยงดูเด็กดังกล่าว
6. ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นอยู่ก่อนแล้ว จะมาจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นซ้ำอีกในเวลาเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม (ป.พ.พ. มาตรา 1598/26)
7. พระภิกษุ จะรับบุตรบุญธรรมไม่ได้