มาตรา 1546 กฎหมายถือว่าเด็กซึ่งเกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชาย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การรับรองบุตร เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้บุตรนอกสมรสเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้ โดยสิทธิต่างๆของบุตร มีผลย่อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิด โดยไม่คำนึงว่าเด็กจะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เมื่อไหร่
การจดทะเบียนรับรองบุตรจะเกิดขึ้นเมื่อบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทำให้เด็กไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน บิดาจึงต้องขอจดทะเบียนว่าเป็นบุตร เพื่อให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดาสามารถขอจดทะเบียนรับรองเด็กว่าเป็นบุตรได้ 2 กรณีคือ
1. กรณีที่ได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาเด็ก
บิดาสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอ สำนักงานทะเบียนเขต พร้อมกับเด็กและมารดาเด็กแสดงความยินยอมจากทั้งสองคนต่อหน้านายทะเบียน และนำหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สูติบัตรของบุตร หนังสือแสดงความยินยอมของบุตรและมารดาบุตร
2. กรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้
การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรกรณีนี้จึงต้องมีคำพิพากษาของศาลก่อน โดยการตั้งทนายความยื่นคำร้องขอต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เมื่อยื่นคำร้องแล้วบิดาจะต้องไปให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการสถานพินิจ และเมื่อไต่สวนคำร้องเสร็จและศาลได้มีคำพิพากษาให้บิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรได้ ก็สามารถนำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียนได้
ผลของการจดทะเบียนรับรองบุตร
ถือว่าเป็นบิดาและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย นับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตร มีอำนาจปกครองบุตร และหากต่อมาบิดาตาย บุตรนั้นก็มีสิทธิได้รับมรดกของบิดาในฐานะทายาทโดยธรรม
ถ้าบิดาได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาเด็กก็สามารถไปขอจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรได้เลย แต่ถ้าหากไม่ได้รับความยินยอมดังกล่าว บิดาจะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาก่อนจึงจะไปดำเนินการขอจดทะเบียนรับรองบุตรได้