โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร ป. จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธร ป. จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าโจทก์ไม่มีความผิดอาญา และสถานีตำรวจภูธร ป. ไม่มีอำนาจยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรูปภาพและข้อมูลส่วนตัวของ ร้อยตำรวจโท ธ. และนาวสาว ช. ที่โจทก์ส่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่และโปรแกรมไลน์มากล่าวโทษต่อจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174, 157, 200, 83, 90, 91
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีมีปัญหาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดที่จังหวัดสระแก้วไม่ใช่เกิดเหตุที่กรุงเทพมหานครดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ โจทก์จึงต้องยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ซึ่งมีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีที่ตั้งในกรุงเทพมหานครได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 (1) เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 22 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญานั้นมิได้เป็นบทบัญญัติให้สิทธิโจทก์ที่จะเลือกยื่นฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีที่อยู่ได้ แต่เป็นบทบัญญัติที่ให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับจะรับคดีของโจทก์หรือไม่ก็ได้ โดยศาลจะพิจารณาว่าการฟ้องคดีต่อศาลที่จำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับจะสะดวกยิ่งกว่าการฟ้องคดีต่อศาล ที่ความผิดเกิดหรือไม่ คดีนี้เหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดที่จังหวัดสระแก้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 2 การจะฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น ซึ่งมีที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานครย่อมไม่สะดวกกว่าการฟ้องคดีต่อศาลที่ความผิดเกิด แต่เป็น การสะดวกสำหรับโจทก์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น กรณีจึงไม่มีเหตุผล ที่จะใช้ดุลพินิจให้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน