โดยปกติ คดีที่เอกชนจะฟ้องต่อศาลปกครองนั้นได้แก่ คดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน เนื่องจากการกระทำทางปกครองหรือการใช้อำนาจทางปกครอง ซึ่งในระยะแรกที่ศาลปกครองกลางเพิ่งเปิดทำการ ประชาชนอาจจะยังไม่ทราบได้แน่ชัดว่าเรื่องใดสามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้ และเรื่องใดที่ฟ้องต่อศาลปกครองไม่ได้ ดังนั้นจึงมีคดีจำนวนหนึ่งที่ศาลปกครองกลาง ไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้แม้จะเป็นกรณีที่น่าเห็นใจสักเพียงใดก็ตาม ซึ่งอาจสร้างความสงสัยและความคับข้องใจแก่ผู้ฟ้องคดีอยู่บ้าง
คดีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณานั้นได้แก่
1. เรื่องที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีเป็นประชาชนด้วยกัน ทั้งนี้ เนื่องจากกรณี ดังกล่าวไม่ใช่ข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน เช่น กรณีที่ฟ้องว่าเอกชนอีกรายหนึ่งได้ละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดี โดยการใช้ประโยชน์ในทางส่วนบุคคล (คดีหมายเลขแดงที่ 76/2544) เป็นต้น
2. เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายไม่ถือว่าหน่วยงานเหล่านี้เป็น หน่วยงานทางปกครอง เช่น ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) (คดีหมายเลขแดงที่ 1/2544) บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (คดีหมายเลขแดงที่ 25/2544) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (คดีหมายเลขแดงที่ 44/2544) เป็นต้น
3. เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กระทำความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีโดยการกระทำส่วนตัว มิใช่เป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจทางปกครอง เช่น กรณีที่ฟ้องว่า พลทหารอาสาสมัครบุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินใน เคหะสถานของผู้ฟ้องคดี โดยมีสาเหตุเนื่องจากไม่พอใจกันเป็นการส่วนตัว (คดีหมายเลขแดงที่ 85/2544) เป็นต้น
4. เรื่องที่ข้อพิพาทเกิดจากสัญญาทั่วไป มิใช่สัญญาทางปกครอง อันได้แก่ สัญญาสัมปทานสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มี สิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นแม้ว่าคู่สัญญาอีก ฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ก็ไม่อาจฟ้องคดียังศาลปกครองได้ เช่น กรณีที่ฟ้องว่าการเคหะแห่งชาติในฐานะผู้ให้เช่าซื้ออาคารได้โอนกรรมสิทธิ์การเช่าซื้อของผู้เช่าซื้อเดิมไปให้ผู้เช่าซื้อใหม่โดยไม่สุจริต ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นภรรยาของ ผู้เช่าซื้อเดิมได้รับความเสียหาย (คดีหมายเลขแดงที่ 68/2544) กรณีที่ฟ้องว่ากรมป่าไม้ไม่คืนเงินที่ผู้ฟ้องคดีได้วางไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างประจำสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสงทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ ตรวจรับมอบงาน และจ่ายเงินค่าก่อสร้างครบทุกงวดแล้ว (คดีหมายเลขแดงที่ 69/2544) กรณีที่ฟ้องว่าวิทยาลัยการอาชีพ ขอนแก่นผิดสัญญากับผู้ฟ้องคดีเพราะยอมให้บุคคลอื่นเข้ามาทำธุรกิจขายสินค้าในลักษณะเช่นเดียวกับร้านค้าสวัสดิการ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้เช่า ทำการค้าอยู่ (คดีหมายเลขแดงที่ 77/2544) หรือกรณีที่ฟ้องว่า เทศบาลเมืองหนองคายไม่ยอมชำระหนี้ค่าจ้างทำอาหารเลี้ยง รับรองในงานเลี้ยงของเทศบาล แก่ผู้ฟ้องคดี (คดีหมายเลขแดงที่ 86/2544) เป็นต้น
5. เรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง ศาลอาญา หรือศาลชำนาญพิเศษอื่นแล้ว เรื่องเช่นว่านี้จะไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เช่น กรณีที่ฟ้องว่า เจ้าหน้าที่บังคับคดียึดและขายทอดตลาด ที่ดินตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสงโดยมิชอบ กรณีนี้ศาลปกครองวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิยื่นคำร้อง คัดค้านการบังคับคดีดังกล่าวได้ที่ศาลจังหวัดทุ่งสง (คดีหมายเลขแดงที่ 79/2544) กรณีที่ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีแพ้คดีในศาลยุติธรรม เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่สามารถตรวจดูเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีซึ่งผู้ฟ้องคดี เห็นว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครสวรรค์ กรณีนี้ ศาลปกครองวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งจึงอยู่ในอำนาจ พิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คดีหมายเลขแดงที่ 82/2544) กรณีที่ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ความเป็นธรรม เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมวินิจฉัยว่าบุตรของผู้ฟ้องคดีไม่ได้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ การงาน จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับผลประโยชน์จากการประกันสังคมเพียงค่าปลงศพเท่านั้น กรณีนี้ศาลปกครองวินิจฉัยว่า เนื่องจาก พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้บัญญัติให้ผู้ที่ไม่พอใจในเรื่องเงินค่าทดแทนมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงาน กรณีดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน (คดีหมายเลขแดงที่ 111/2544) หรือกรณีที่ฟ้องว่า กรุงเทพมหานครประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ถูกต้อง กรณีนี้ศาลปกครอง วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ เจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรจึงอยู่ใน อำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลภาษีอากร (คดีหมายเลขแดงที่ 115/2544) เป็นต้น
6. เรื่องที่ขาดอายุความฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ ศาลปกครองเปิดทำการ เช่น กรณีของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็น ข้าราชการตำรวจได้ ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ จนได้รับการลดโทษลงเป็นการปลดออกจากราชการ แต่ยังไม่พอใจผลการพิจารณาอุทธรณ์ ดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ผู้ฟ้องคดีก็จะต้องใช้สิทธิทางศาลฟ้องคดีต่อศาลที่ มีอำนาจพิจารณาพิพากษา แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีจึงต้องฟ้องคดีต่อ ศาลยุติธรรม ภายในอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้ฟ้องคดี ต่อศาลยุติธรรมจนคดีขาดอายุความ ศาลปกครองก็ย่อมไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา (คดีหมายเลขแดงที่ 132/2544)
7. เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการใดๆ ของพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งถือว่าไม่ใช่เป็นการ ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง เช่น การออกหมายจับของพนักงานสอบสวน (คดีหมายเลขแดงที่ 67/2544 และคดีหมายเลขแดงที่ 90/2544) การดำเนินการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน (คดีหมายเลขแดงที่ 88/2544) หรือการดำเนินการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของพนักงานอัยการ (คดีหมายเลขแดงที่ 126/2544) เป็นต้น
8. เรื่องที่ประสงค์จะขอให้ศาลปกครองลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางวินัยหรือทางอาญาเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากเรื่องดังกล่าว เป็นอำนาจของ ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือของเจ้าหน้าที่อื่น ไม่ใช่อำนาจของศาลปกครอง และการดำเนินการลงโทษดังกล่าวก็ไม่มีผลเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายของผู้ถูกฟ้องคดี เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองลงโทษทางวินัยหรือทางอาญาแก่เจ้าพนักงานสรรพสามิต จังหวัดแพร่ (คดีหมายเลขแดงที่ 65/2544) หรือแก่เจ้าหน้าที่การรถไฟ แห่งประเทศไทย (คดีหมายเลขแดงที่ 72/2544) หรือแก่อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (คดีหมายเลขแดงที่ 81/2544) เป็นต้น
9. เรื่องที่ความเดือดร้อนหรือเสียหายของผู้ฟ้องคดีได้หมดสิ้นไปแล้วในขณะที่มายื่นคำฟ้อง หรือมีการได้แก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้วก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา ทั้งนี้ เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้เสียแล้ว เช่น กรณีที่ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้จ่ายเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินไว้แล้ว แต่ก่อนที่ศาลปกครองจะพิจารณา พิพากษาคดี ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนที่มาฟ้องคดีไปเรียบร้อยแล้ว (คดีหมายเลขแดงที่72/2544) หรือกรณีที่ฟ้องว่า นายอำเภอ บางไทรละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการกับผู้ซึ่งทำการดูดทรายในแม่น้ำ จนเป็นเหตุให้ที่สาธารณะประโยชน์และทางสาธารณะซึ่งติดกับวัด ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้รับความเสียหาย แต่ก่อนที่ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาคดี บุคคลดังกล่าวได้เลิกประกอบกิจการดูดทราย ไปแล้ว (คดีหมายเลขแดงที่ 80/2544) เป็นต้น
10. เรื่องที่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ใช้วิธีการแก้ไขเยียวยาที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ยังมิได้อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองที่ตนไม่เห็นด้วยนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่ง หรือต่อเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ กรณีเช่นนี้ศาลปกครองยังไม่อาจรับ คำฟ้องไว้พิจารณาได้ ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายต้องการให้ผู้ฟ้องคดีใช้วิธีการ แก้ไขเยียวยานั้นก่อนที่จะฟ้องคดีต่อศาล เช่น กรณีที่ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้อุทธรณ์หรือ โต้แย้งคำสั่งแต่อย่างใดเลย (คดีหมายเลขแดงที่ 105/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 110/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 129/2544 และคดีหมายเลขแดงที่ 133/2544) หรือกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไปแล้ว แต่ไม่รอทราบผลการพิจารณาคำอุทธรณ์นั้นเสียก่อน กลับรีบมาฟ้องยังศาลปกครอง กรณีเช่นนี้ศาลปกครองก็ไม่อาจ รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณาได้เช่นกัน (คดีหมายเลขแดงที่ 70/2544 และคดี หมายเลขแดงที่ 71/2544) เป็นต้น
11. เรื่องที่ฟ้องคณะกรรมการเลือกตั้ง ในเรื่องต่างๆ เช่น ฟ้องคดี เกี่ยวกับคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (คดีหมายเลขแดงที่ 14/2544) หรือฟ้องคดี เกี่ยวกับคำสั่งเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้ง (คดีหมายเลขแดงที่ 64/2544) เป็นต้น
12. เรื่องที่ฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรที่ออกคำสั่งเลื่อนตำแหน่งข้าราชการไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเป็นเหตุ ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งนักวิชาการเกษตร 7 ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นเกษตรจังหวัดนั้น กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้เสียหายที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐ คือ กรมส่งเสริมการเกษตร แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ คือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้(คดีหมายเลขแดงที่ 81/2544)
13. เรื่องที่ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้ทำการรับผิดชอบชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดที่เกิดจากการที่ข้าราชการหรือลูกจ้างของหน่วยงานขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนรถของเอกชนเสียหาย หรือชนผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ นั้นต้องฟ้องคดีต่อศาล ยุติธรรม ไม่ใช่ศาลปกครองเนื่องจากศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีละเมิดได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎหรือคำสั่งหรือละเลยต่อหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่ล้าช้าของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เท่านั้น
จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมักจะเข้าใจผิดว่าหากจะฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง เช่น กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนตำบล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ จะต้องมายื่นฟ้องยังศาลปกครอง แต่แท้ที่จริงแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เรื่องบางเรื่องอาจต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรมเช่นเดิม และบางเรื่องผู้ฟ้องคดีจำเป็นต้อง ใช้วิธีการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของตนให้ครบ ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเสียก่อนจึงจะมาฟ้องคดีได้ อย่างไรก็ตาม หากศาลปกครองได้พิจารณา คำฟ้องใดแล้ว เห็นว่า ไม่อาจรับไว้พิจารณาพิพากษาให้ได้ ก็จะรีบแจ้งคำสั่งไม่รับ คำฟ้อง ไว้พิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ พร้อมแสดงเหตุผลโดยชัดแจ้ง เพื่อที่ผู้ฟ้องคดีจะได้ไปดำเนินการในทางอื่นต่อไป
2021-10-17