ประกันตัวชั้นศาล

ประกันตัวชั้นศาล

เมื่อการประกันตัวผ่านมาทั้งในชั้นตำรวจ และอัยการแล้ว อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง พอถึงวันส่งตัวผู้ต้องหาไปศาลพร้อมสำนวน อัยการจะเป็นผู้มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล เมื่อใดที่ผู้ต้องหาให้การปฎิเสธ ศาลจะรับฟ้อง ฐานะเปลี่ยนจากผู้ต้องหา ตกเป็นจำเลยทันที เมื่อนั้น หากจำเลยต้องการประกันตัวชั้นศาลต่อ ก็ให้ขึ้นไปแจ้งประชาสัมพันธ์ศาลดำเนินการให้ กรณี จำเลยน่าเชื่อว่าตนเองบริสุทธิ์ ยากจน ไม่หลบหนี ความผิดไม่ร้ายแรงขัดความสงบ ไม่มีเงินไม่มีหลักประกัน ติดต่อ สำนักงานกองทุนยุติธรรม(กทม) สำนักงานยุติธรรมจังหวัด(อยู่ในศาล) เพื่อขอความช่วยเหลือได้ครับ

ประกันตัวจำเลยในคดีอาญาในศาลต้องทำอย่างไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร 

การประกันตัวในชั้นศาล

  การประกันตัวในชั้นศาลมี 2 ช่วง

                     ช่วงแรกเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาลและศาลอนุญาตให้ขังซึ่งถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุมของศาลแล้ว     ช่วงที่ 2 คือช่วงที่ศาลประทับฟ้องของโจทก์แล้ว ผู้ต้องหามีสถานะเป็นจำเลยแล้วซึ่งอาจต้องมีการถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของศาล ดังนี้ หากผู้ประกันประสงค์จะขอ

    ให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยก็จะต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาแล้วแต่กรณีต่อศาล

          กำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ประกันมีดังนี้ (ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว)

                ชั้นสอบสวนมีกำหนดเวลาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ฝากขังจนถึงมีการฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี

                ชั้นพิจารณาของศาล สัญญาประกันใช้ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

          เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวโดยศาล ผู้ประกันสามารถยื่น คำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกันได้ดังนี้

          1. การใช้หลักทรัพย์เป็นประกัน ได้แก่

               1.1 เงินสด

               1.2 ที่ดินมีโฉนด หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือน.ส. 3 ก.)ซึ่งมีหนังสือรับรองราคาประเมิน

                    ของสำนักงานที่ดินและไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี (จำนอง)

               1.3 ห้องชุดมีโฉนดที่ดินและมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และต้องไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี

               1.4 หลักทรัพย์อย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น

                             – พันธบัตรรัฐบาล

                            – สลากออมสิน

                            – สลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

                            – ใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร

                            – กรมธรรม์ประกันภัย

          2. การใช้บุคคลเป็นประกัน (ตำแหน่ง)

               – เป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานของรัฐประเภทอื่น ๆ รวมถึงลูกจ้างของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัทเอกชน

               – เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติ พี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือบุคคลอื่นที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้

               – อัตราหลักประกัน ให้ทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่า ของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน หากวงเงินประกันมียอดสูงกว่าวงเงินที่ผู้นั้นมีสิทธิประกันได้ ศาลอาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมให้เพียงพอ กับวงเงินประกันหรืออาจให้มีผู้ขอประกันหลายคนร่วมกัน ทำสัญญาประกันโดยใช้วงเงินของแต่ละคนรวมกันได้ 

          หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอประกันตัวต่อศาล

          – บัตรประจำตัวประชาชน บัตรข้าราชการ หรือบัตรแสดงตำแหน่งหน้าที่การงาน ทะเบียนบ้านของจำเลยและผู้ขอประกันพร้อมสำเนา

          – หลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน เช่น เงินสดโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการ ทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สมุดเงินฝากประจำพร้อมสำเนา

          – หนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้าง (กรณีขอประกันตัวด้วยตำแหน่งหน้าที่)

          – หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินจากสำนักงานที่ดิน (กรณีใช้โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นประกัน)พร้อมสำเนา

          – หนังสือรับรองจากธนาคาร (กรณีใช้สมุดเงินฝากประจำเป็นประกัน)

          – หนังสือยินยอมของคู่สมรส (กรณีผู้ขอประกันมีคู่สมรส)

          หลักเกณฑ์ในการสั่งคำร้องขอประกัน

          เมื่อยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลแล้ว ศาลจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ประกอบในการพิจารณาสั่งคำร้อง คือ

            1. ความหนักเบาแห่งข้อหา

            2. พยานหลักฐานที่นำสืบแล้วมีเพียงใด

            3. พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร

            4. เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด

            5. ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่

            6. ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจาการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด 

            7. คำคัดค้านของพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน

          ขั้นตอนการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย

            1. ขอแบบพิมพ์คำร้องขอประกันตัวจากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล

            2. เขียนคำร้องขอประกันตัวด้วยตนเองโดยขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์หรือให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนให้

            3. ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานที่ใช้ในการขอประกันแก่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

            4. เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้ตรวจคำร้องและหลักฐานที่ใช้ในการขอประกันเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ต้องหรือจำเลย/นายประกัน ลงชื่อในคำร้องเพื่อเสนอคำร้องดังกล่าวต่อผู้พิพากษาพิจารณาสั่ง

            5. เมื่อผู้พิพากษามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันแล้ว  ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศาลและยังไม่มีการออกหมายขังไว้ก็สามารถนำ

               ตัว ผู้ต้องหา/จำเลยออกจากห้องควบคุมของศาลได้  ถ้าผู้ต้องหา/จำเลยถูกคุมขังตามหมายศาลไว้ เจ้าหน้าที่จะนำหมายปล่อยไปปล่อย ณ สถานที่ที่ถูกคุมขังในวันเดียวกัน

            6. หากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ผู้ขอประกันสามารถขอรับหลักทรัพย์ที่ยื่นไว้คืนต่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

          การขอรับหลักทรัพย์หรือเงินสดคืนจากศาล (การขอถอนหลักประกัน)

                 เมื่อคดีถึงที่สุด หรือศาลอนุญาตให้ถอนประกัน หรือสัญญาประกันสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่น (กรณีนายประกันไม่ผิดสัญญาประกัน) ความรับผิดตามสัญญาประกันสิ้นสุดลง  นายประกันสามารถขอหลักประกันคืนได้ทันทีโดยยื่นคำร้องขอถอนหลักประกันคืนต่อศาลและแนบหลักฐาน คือ ใบรับหลักฐานและใบรับเงินที่ศาลออกให้เมื่อครั้งยื่นขอปล่อยชั่วคราว หากใบรับหลักฐานหรือ ใบรับเงินสูญหายต้องแจ้งความ ต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำใบรับแจ้งความมาแสดงต่อศาล 

          กรณีศาลสั่งปรับนายประกัน (นายประกันผิดสัญญาประกัน)

                 ในกรณีที่ศาลสั่งปรับนายประกันตามสัญญาประกัน นายประกันจะต้องนำเงินค่าปรับมาชำระต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด  มิฉะนั้นศาลจะสั่งยึดหลักประกันขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าปรับต่อไป และถ้าได้เงินไม่พอชำระค่าปรับศาลอาจยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของนายประกันมาขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าปรับจนครบ นายประกันที่ศาลสั่งปรับตามสัญญาประกัน มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลได้ภายในกำหนด 1 เดือน หรืออาจนำตัวจำเลยมาส่งศาลและขอลดค่าปรับต่อศาล

          ขั้นตอนในการพิจารณาคดีอาญาของศาล

         1. ศาลที่รับฟ้อง

            การจะยื่นฟ้องที่ศาลใดให้พิจารณาว่าความผิดเกิดขึ้นใน เขตศาลใด หรือจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับในเขตศาลใดหรือพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในเขตศาลใด ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาคดีในกรุงเทพมหานคร

            ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้แก่ ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี และศาลแขวงในเขตกรุงเทพมหานคร   ในต่างจังหวัด ได้แก่ ศาลจังหวัด และศาลแขวง

            การแบ่งแยกอำนาจศาลระหว่างศาลทั่วไปกับศาลแขวงพิจารณาจากอัตราโทษ กล่าวคือ คดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ในอำนาจของศาลแขวง (ในจังหวัดที่ยังไม่มีศาลแขวงเปิดทำการ ศาลจังหวัดจะนำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการผัดฟ้อง การฟ้องและการพิพากษาคดีด้วยวาจา) 

        2. ข้อควรปฏิบัติเมื่อศาลสั่งประทับฟ้อง

           เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว หากจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีควรปฏิบัติ ดังนี้

           2 .1 หากศาลมีคำสั่งขังจำเลย จำเลยสามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวใน ชั้นสอบสวนหรือชั้นฝากขังหรือไม่ก็ตาม

           2 .2 หาทนายความเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีต่อไป (โดยติดต่อหาทนายความด้วยตนเองหรือขอให้ศาลตั้งทนายความให้)

           2 .3 ตรวจดูสำนวนคดี และสิ่งที่โจทก์ยื่นเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาคดี

        3. การพิจารณาและสืบพยานในศาล

           จะกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยโดยศาลจะอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังและศาลจะสอบถามจำเลยว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ และจดคำให้การของจำเลยไว้

           3.1 กรณีจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาคดีโดย ไม่ต้องสืบพยานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลย

           3.2 กรณีจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป  โดยศาลจะสั่งนัดสืบพยานโจทก์ก่อน เสร็จแล้วจึงนัดสืบพยานจำเลย หลังจากสืบพยานของทั้ง 2 ฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วศาลจะนัดฟังคำพิพากษาโจทก์มีหน้าที่ต้องมาศาลทุกนัด (นัดสืบพยานโจทก์) หากไม่มา ศาลต้องยกฟ้องเว้นแต่ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่มาศาลโดยมีเหตุสมควร ศาลจะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ หากจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่ได้รับอนุญาต จากศาล ศาลจะออกหมายจับจำเลยและปรับนายประกัน 

          (ในกรณีจำเลยได้รับการประกันตัว) และหากศาลไม่แน่ใจว่าจะจับจำเลยได้เมื่อใดก็จะจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่า

           จะได้ตัวจำเลยมาพิจารณาคดีต่อไป  การสืบพยาน คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อนจำเลย

           และเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว จำเลยจึงนำพยานเข้าสืบต่อไป ก่อนสืบพยานโจทก์และจำเลยมีสิทธิแถลงเปิดคดี  และหลังจากสืบพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วโจทก์และจำเลยมีสิทธิแถลงปิดคดี

          คำพิพากษาในคดีอาญา

          คำพิพากษาของศาลอาจแยกเป็นพิพากษายกฟ้อง หรือพิพากษาลงโทษ

          โทษที่ศาลพิพากษามี 5 สถาน ได้แก่

             1. โทษประหารชีวิต (โดยการฉีดยาเข้าสู่ร่างกาย)

             2. โทษจำคุก จำเลยจะถูกจำคุกไว้ในเรือนจำ การคำนวณระยะเวลาจำคุกจะนับวันเริ่มจำคุกรวมเข้าด้วยและนับเป็น 1 วันเต็ม โดยไม่คำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ถ้าระยะเวลาจำคุกกำหนดเป็นเดือนให้นับ 30 วันเป็น 1 เดือน ถ้ากำหนดเป็นปี คำนวณตามปีปฏิทิน

             3. โทษกักขัง จำเลยจะถูกกักขังไว้ในสถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้อันมิใช่เรือนจำ เช่น สถานีตำรวจหรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน

             4. โทษปรับ จำเลยต้องชำระเงินตามจำนวนที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จำเลยอาจถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับ (ถืออัตรา 200 บาทต่อ 1 วัน) อย่างไรก็ตามหากศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะไม่ชำระค่าปรับ ศาลอาจสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับไปก่อนก็ได้ และหากจำเลยเคยถูกควบคุม ตัวมาก่อนไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวนหรือชั้นพิจารณาของศาลศาลจะนำวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาหักวันคุมขังให้ด้วยการกักขังแทนค่าปรับนั้นกฎหมายห้ามมิให้กักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปี เว้นแต่กรณีศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไป ศาลจะสั่งกักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลา  เกินกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปีก็ได้

                          นอกจากนี้ หากศาลพิพากษาลงโทษปรับไม่เกิน 80,000 บาทและจำเลย (เฉพาะบุคคลธรรมดา)ไม่มีเงินชำระค่าปรับจำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ แทนค่าปรับได้เมื่อศาลพิจารณาและเห็นสมควรก็จะอนุญาตให้จำเลยทำงานบริการสังคมฯแทนค่าปรับโดยกำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นหนึ่งวันทำงานต่อไป

            5. โทษริบทรัพย์สิน                 

                หากเป็นทรัพย์ซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจสั่งริบได้เว้นแต่ทรัพย์เหล่านั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด  อาจยื่นคำร้องขอคืนต่อศาลได้  ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ศาลสั่งริบเสียทั้งสิ้น  ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้ใดก็ตามและผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงไม่อาจร้องขอคืนได้คำพิพากษาของศาลจะทำเป็นหนังสือ ยกเว้นในศาลแขวง คำพิพากษาจะทำด้วยวาจาก็ได้โดยบันทึกไว้พอให้ได้ใจความ  จำเลยจะต้องมาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งตามวันเวลาที่ศาลนัด  ถ้าจำเลยไม่มาและศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนีหรือจงใจไม่มาศาล ศาลจะออกหมายจับจำเลยเพื่อมาฟังคำพิพากษา ถ้ายังไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลภายในกำหนด 1 เดือน  นับแต่วันออกหมายจับ  ศาลอาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นลับหลังจำเลยได้ โดยถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นโดยชอบแล้ว

               การอุทธรณ์ ฎีกา

               1. เมื่อศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ภายในกำหนด 1 เดือน  นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาฟังหากยื่นไม่ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว อาจยื่นคำร้อยขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แต่ต้องยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วแต่กรณี โดยต้องอ้างเหตุที่ไม่อาจยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทันภายในกำหนดด้วย

               2. คำฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับคดีพอสมควร เช่น ชื่อคู่ความ ผู้อุทธรณ์ ฎีการายละเอียดเกี่ยวกับคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลยในชั้นต้น หรือในชั้นอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงในทางพิจารณามีอย่างไร และศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาว่าอย่างไร ผู้อุทธรณ์หรือฎีกาไม่เห็นด้วยหรือโต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าวนั้นอย่างไร  ประเด็นใดพร้อมด้วยเหตุผลและคำขอท้ายอุทธรณ์ ฎีกา เช่น ให้แก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ การยื่นคำฟ้องอุทธรณ์หรือคำฟ้องฎีกา ทำได้โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้น  ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์  คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด