การเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากคู่สมรสอีกฝ่าย ต้องเป็นกรณีที่ฝ่ายถูกเรียกเป็นฝ่ายผิด อีกฝ่ายจึงสามารถเรียกร้องได้ โดยขณะที่อยู่ร่วมกันตลอดมานั้น ฝ่ายเรียกร้องมิได้ประกอบอาชีพ จำเป็นต้องอาศัยอีกฝ่ายอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งการหย่าทำให้ต้องขาดไร้อุปการะจากปกติ จึงทำให้ยากจนลง อีกฝ่ายจึงต้องรับผิดชอบในส่วนนี้
กรณีคู่สมรสสมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี แม้เป็นเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายได้ แต่ไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ ส่วนฝ่ายที่เรียกร้องนั้นต้องมีฐานะที่แย่กว่า ฝ่ายที่ถูกเรียกร้องด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1526 ในคดีหย่าถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/51 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1527 ถ้า หย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา 1516 (7) หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1516(9) คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่ เป็นโรคติดต่อนั้นโดยคำนวณค่าเลี้ยงชีพอนุโลมตามมาตรา 1526
มาตรา 1528 ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป
มาตรา 1598/39 เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย แสดงว่าพฤติการณ์ รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือ กลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู อีกก็ได้
ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียง อีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปและพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้อง อาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้
สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น