ศาลปกครองชั้นต้น

ศาลปกครองชั้นต้น ได้แก่ ศาลปกครองครองกลางตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือในจังหวัดใกล้เคียง โดยมีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม นอกจากนี้มีอำนาจในระหว่างที่ศาลปกครองในภูมิภาคยังมิได้มีเขตอำนาจ หรือยังมิได้จัดตั้ง
 ศาลปกครองชั้นต้นอีกประเภทหนึ่งคือ ศาลปกครองในภูมิภาคมีทั้งหมด 16 แห่ง คือ ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองชุมพร ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองบุรีรัมย์ ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองแพร่ ศาลปกครองยะลา ศาลปกครองระยอง ศาลปกครองลพบุรี ศาลปกครองสกลนคร ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองสุพรรณบุรี ศาลปกครองอุครธานี และศาลปกครองอุบลราชธานี
ศาลปกครองชั้นต้นทั้ง 16 แห่งที่กล่าวมาตั้งอยู่ในจังหวัดตามชื่อศาล และมีอำนาจในเขตใกล้เคียง ดังเช่น ศาลปกครองจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง มีเขตตลอดท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว หรือศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน

  ส่วนการฟ้องคดีปกครองนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 42 ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน หรือความเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 
ลักษณะการฟ้องและการมอบอำนาจ มาตรา 45 โดยคำฟ้องใช้ถ้อยคำสุภาพ และในคำฟ้องต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้คือ
1 .ชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี 
2. ชื่อหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี 
3. การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีพร้อมทั้งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว
4. คำของผู้ฟ้องคดี
5. ลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี ถ้าเป็นการยื่นฟ้องคดีแทนผู้อื่นจะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ฟ้องคดีมาด้วย