ศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

  1. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มี อำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิด กับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
  2. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
  3. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
  4. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
  5. คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
  6. คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

เรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง

  1. การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
  2. การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ
  3. คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น

อำนาจศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้

  1. คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุม ใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
  2. คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออก โดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
  3. คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
  4. คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

เขตอำนาจ

ศาลปกครองแบ่งออกเป็น “ศาลปกครองชั้นต้น” และ “ศาลปกครองสูงสุด”

  • ศาลปกครองชั้นต้น
    • ศาลปกครองกลาง มีเขตอำนาจตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสระบุรี หรือคดีที่ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลาง
    • ศาลปกครองในภูมิภาค ปัจจุบันมี 14 แห่ง ดังนี้
      • ศาลปกครองเชียงใหม่ มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในท้องที่จังหวัดน่าน พะเยา และแพร่[5]
      • ศาลปกครองสงขลา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง และสตูล
      • ศาลปกครองนครราชสีมา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์[6]
      • ศาลปกครองขอนแก่น มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในท้องที่จังหวัดมุกดาหาร
      • ศาลปกครองพิษณุโลก มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก พิจิตร สุโขทัย และอุตรดิตถ์
      • ศาลปกครองระยอง มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว
      • ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีเขตอำนาจท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในจังหวัดชุมพร
      • ศาลปกครองอุดรธานี มีเขตอำนาจท้องที่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในจังหวัดนครพนม บึงกาฬ และสกลนคร
      • ศาลปกครองอุบลราชธานี มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ
      • ศาลปกครองเพชรบุรี มีเขตอำนาจท้องที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสงคราม[7]
      • ศาลปกครองนครสวรรค์ มีเขตอำนาจท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี และเพชรบูรณ์[8]
      • ศาลปกครองสุพรรณบุรี มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี และ กาญจนบุรี[9]และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในท้องที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และอ่างทอง
      • ศาลปกครองภูเก็ต มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดกระบี่ พังงา ระนอง และ จังหวัดภูเก็ต[10]
      • ศาลปกครองยะลา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส [11]
  • ศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจตัดสินคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยตรง หรือคดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น