สินสอด

    เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่พ่อแม่ ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนที่หญิงยอมสมรสด้วย ซึ่งจะตกเป็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิงทันที โดยไม่ต้องรอให้มีการสมรสกันก่อน

    ถ้าไม่มีการสมรสโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง มีพฤติการณ์ที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรส หรือฝ่ายหญิงไม่ยอมแต่งงานด้วย ก็ต้องคืนสินสอดให้ฝ่ายชาย

    แต่ถ้าแต่งงานกันแล้ว มาหย่าภายหลัง สินสอดก็ไม่ต้องคืน

ทั้งสินสอด และของหมั้น ชายหญิงต้องมีเจตนาไปจดทะเบียนตามกฎหมาย

หากชายหญิงไม่มีเจตนาจะไปจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ก็ไม่ถือว่าทรัพย์สินที่ให้ไปนั้นเป็นสินสอด ฝ่ายชายเรียกคืนไม่ได้

วิธีการคืนสินสอด (อายุความ 10 ปี)

1 เงินตรา คืนเพียงส่วนที่เหลืออยู่ในขณะเรียกคืน แต่หากนำไปซื้อทรัพย์สินอื่น ต้องนำทรัพย์นั้นคืนให้ฝ่ายชาย เพราะเป็นการช่วงทรัพย์

2 มิใช่เงินตรา คืนตามสภาพในขณะเรียกคืน อีกทั้งไม่ต้องรับผิดชอบกรณีสูญหายด้วย

ประเด็น สินสอดไม่ใช่สาระสำคัญของการสมรส ถ้าได้มีการตกลงว่าจะให้ แต่ไม่ยอมให้ บิดามารดาฝ่ายหญิงฟ้องเรียกค่าสินสอดได้

มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

    เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง

    สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้