พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537
องค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การ บริหารส่วนตำบลหรือ อบต. มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นระบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่เล็กที่สุดในประเทศไทย พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546 กำหนดให้การบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
โครงสร้างของการจัดองค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลแบ่งโครงสร้างออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
1. สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ( ฝ่ายนิติบัญญัติ ) ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น หมู่บ้านละ
2 คน ( ในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 1 หมู่บ้าน ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 6 คน ในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียง 2 หมู่บ้านให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล จำนวนหมู่บ้านละ 3 คน )
หน้าที่ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตำบล เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล พิจารณาและให้ความเห็นชอบข้อบังคับของตำบล ควบคุมการบริหารงานของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
2. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ( ฝ่ายบริหาร ) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจแต่งตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งไม่ ใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ช่วยในการบริหารราชการได้ไม่เกิน 2 คน และคงแต่งตั้งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม่อาจปฎิบัติหน้าที่ได้ ให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้รักษาราชการแทน
นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การ บริหารส่วนตำบล และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล