ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ฮั้ว” เสียก่อน ตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ คำว่า “ฮั้ว” หมายถึง รวมหัวกัน ร่วมกันกระทำการ สมยอมกันในการเสนอราคาเพื่อมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือ เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น การฮั้ว คือ การตกลงกันที่จะไม่มีการแข่งขันในการประกวดราคาประมูลงานระหว่างพ่อค้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ราคาที่ตกลงกันและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน
ตัวอย่างเช่น
ในการประกวดราคาก่อสร้างอาคารของส่วนราชการแห่งหนึ่ง มีผู้ซื้อซองประกวดราคาเพื่อเข้าสู้ราคากันรวมจำนวน ๑๐ ราย หากทั้ง ๑๐ รายต่างก็แข่งกันเสนอราคาอย่างอิสระเสรี ผลการประกวดราคาก็จะได้แก่ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด ซึ่งประโยชน์จะตกได้แก่รัฐที่สามารถประหยัดงบประมาณได้ แต่หากมีการ “ฮั้ว” กัน โดยพ่อค้าทั้ง ๑๐ ราย ประชุมตกลงกันว่าจะให้พ่อค้ารายหนึ่งได้งานชิ้นนี้ โดยพ่อค้ารายอื่นจะเสนอราคาที่สูงกว่า และพ่อค้าที่ได้งานตกลงที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พ่อค้ารายอื่นที่เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาด้วย
ผลของการฮั้วหรือตกลงกันในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ คือ การที่รัฐได้รับความเสียหาย เช่น ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น เพราะหากให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ผู้ที่เสนอราคาต่ำจะเป็นผู้ที่ได้งานไป แต่การฮั้ว ราคาที่เสนอไม่ใช่ราคาที่ต่ำสุดที่สามารถดำเนินงานตามประสงค์ได้ หรืองานที่ประมูลได้ไปเนื่องจากการฮั้ว ค่าจ้างส่วนหนึ่งต้องนำจ่ายตามข้อตกลงฮั้วทำให้ผู้ได้รับงานจำเป็นต้องลดมาตรฐานของสิ่งก่อสร้างเพื่อประหยัดต้นทุน ทำให้งานต่างๆของรัฐที่เกิดจากการประมูลที่มีการฮั้วไม่มีคุณภาพ
นอกจากนี้การฮั้วในการประมูลงานยังเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมูลแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบจากผู้ประมูลได้ จากการดำเนินการจัดซื้อสินค้าและบริการของหน่วยงานของรัฐที่ผ่านมาได้มีการกระทำในลักษณะเป็นการสมยอมในการเสนอราคาและมีพฤติการณ์ต่างๆอันทำให้มิได้มีการแข่งขันกันเสนอประโยชน์สูงสุดให้แก่หน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริงและเกิดผลเสียหายก่อประเทศชาติ นอกจากนี้ ในบางกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีส่วนร่วมหรือมีส่วนสนับสนุนในการทำความผิด หรือละเว้นไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อันมีผลทำให้ปัญหาในการเรื่องนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการผ่านกฏหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๒” ขึ้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์หรือเหตุผลในการประกาศใช้คือ เพื่อกำกับดูแลให้การจัดหาสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อหรือการจัดจ้าง หรือวิธีอื่นใดของหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยใช้งบประมาณ เงินกู้ เงินช่วยเหลือหรือรายได้ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเงินของแผ่นดิน รวมทั้งการที่รัฐให้สิทธิในการดำเนินกิจการบางอย่างโดยการให้สัมปทานอนุญาตหรือกรณีอื่นใดในลักษณะเดียวกันก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประโยชน์สาธารณะอันเป็นกิจการของรัฐ กระทำอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรรม และมีการแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกันการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๒ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กฏหมายฮั้ว” เป็นกฎหมายอาญาที่มุ่งจะทำให้การจัดหาสินค้าหรือบริการของหน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่ใช้เงินงบประมาณเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและมีการแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ