เบี้ยวค่าเลี้ยงดูบุตร มีสิทธิถูกขัง

เบี้ยวค่าเลี้ยงดูบุตร มีสิทธิถูกขัง

ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร หากลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหนี้สามารถดำเนินการตามกฎหมาย ดังนี้

1. แจ้งต่อศาล โดยการทำเป็นคำร้องขอออกหมายเรียกตัวมาสอบถาม เพื่อตักเตือน หากลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาล ขอศาลให้มีคำสั่งออกหมายจับและสั่งให้กักขังลูกหนี้ต่อไป จนกว่าจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

2. ถ้าศาลเห็นสมควร จะสั่งให้ลูกหนี้นำเงินมาวางศาล หรือกรณีลูกหนี้มีรายได้ประจำศาลอาจสั่งให้อายัดเงิน โดยให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินนำเงินมาวางศาลแทนลูกหนี้

แนวทางปฏิบัติ

1. ศาลจะมีคำสั่งเรียกตัวลูกหนี้มาสอบถามก่อนว่าเหตุใดถึงผิดสัญญา โดยนัดพร้อมสอบถามทั้งสองฝ่ายมาศาล ในขั้นตอนนี้ลูกหนี้ก็มักจะยินยอมหาเงินมาชำระ

2. แต่หากไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาล โดยไม่มีเหตุอันควร จึงสามารถออกหมายจับ แต่หากลูกหนี้อยู่ในห้องพิจารณา ศาลสามารถออกหมายขังได้เลย ไม่ต้องออกหมายจับอีก

3. ห้ามกักขังลูกหนี้แต่ละครั้งเกิน 15 วัน

4. หากลูกหนี้หาเงินมาได้ ศาลต้องมีคำสั่งปล่อยตัวทันที

5. หมายขัง ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิขอปล่อยชั่วคราวได้

***วิธีปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่งทั่วไป คือ การบังคับคดี โดยขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ลูกหนี้ขายทอดตลาด หรืออายัดเงิน***

หลักกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

มาตรา 162 ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาวางศาลตามเงื่อนไขหรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษามีรายได้ประจำ ศาลอาจสั่งให้อายัดเงินเท่าจำนวนที่จะชำระเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน แล้วให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินดังกล่าวนำเงินมาวางศาลแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา

   เมื่อความปรากฏต่อศาลเองหรือผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ร้องต่อศาลว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลเรียกตัวมาสอบถาม หากปรากฏเป็นความจริงให้ศาลว่ากล่าวตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

   ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาลตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจออกหมายจับและสั่งให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้จนกว่าลูกหนี้จะนำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพมาชำระหรือวางศาล แต่ห้ามมิให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ละครั้งเกินกว่า 15 วันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว

ขอขอบคุณ ข้อมูล เรียบเรียงและเขียนโดย ทนายธนู กุลอ่อน