” จะทำไง ?… พ่อไม่ยอมคืนลูก ขัดขวางข่มขู่ กีดกัน ไม่ให้แม่ได้เจอลูก….”
กฎหมายได้กำหนดอำนาจปกครองบุตรและสิทธิในการติดต่อบุตรของตนได้ตามสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ
(1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
(2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
(3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
(4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 1584/1 บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม
ในกรณีที่สามีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส บุตรซึ่งเกิดมานั้น ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ มารดาจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น แม้บิดาจะอนุญาตให้ใช้นามสกุล หรือเลี้ยงดู ให้การศึกษาบุตร หรือมีชื่อปรากฏอยู่ในสูติบัตรของบุตรก็ตาม บิดายังคงเป็น บิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังเดิม และบิดาดังกล่าวจะมีอำนาจปกครองบุตรได้นั้น ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาในภายหลัง หรือมีอำนาจปกครองตามคำพิพากษาของศาล
อีกหนึ่งปัญหา สำหรับบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ใจร้อนรอให้ศาลมีคำสั่งไม่ไหว จึงใช้วิธีชิงตัวบุตรไปเลี้ยงดู ให้การศึกษา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง จนมีการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาพรากผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317, 318 หรือ 319 แล้วแต่กรณี
กรณีดังกล่าวนี้มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแล้วว่า กรณีที่บิดานำบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดา เพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำมีเจตนาดีต่อบุตรจึงไม่ถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นความผิดข้อหาพรากผู้เยาว์ เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 398/2517