แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการทรัพย์ของโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 5 ให้คำนิยาม เจ้าหน้าที่พัสดุ หมายความว่า พนักงานส่วนตำบลหรือข้าราชการอื่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประธานกรรมการบริหารแต่งตั้งหรือมอบหมายให้มีหน้าที่หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัสดุตามระเบียบนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการเงินที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติแล้วการที่จำเลยที่ 1 เสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำและจัดการทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานทำหรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ส่วนจำเลยที่ 2 คงได้ความแต่ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล กับมีอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4167/2564 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ มีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีอำนาจสั่งซื้อสั่งจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 จำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอมีมติในการประชุมสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 2 อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินการโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน เป็นเงิน 100,000 บาท โดยกำหนดรายละเอียดโครงการว่า ติดตั้งป้ายกระจกโค้ง จำนวน 10 ชุด ป้ายทางโค้ง จำนวน 6 ป้าย กันเลนบริเวณ 3 แยก 2 จุด ลูกระนาด จำนวน 30 จุด และป้ายลดความเร็ว จำนวน 6 ป้าย ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุเสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคา แต่ไม่มีรายการประมาณการค่าดำเนินการแยกแต่ละรายการ และไม่มีการเสนอแต่งตั้งผู้ควบคุมงาน มีเพียงวงเงินรวมที่ตั้งไว้ พร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สั่งจ้างพิจารณา จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นชอบและลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง วันที่ 15 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 3 เสนอทำงานดังกล่าวเป็นเงิน 100,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 6,542.10 บาท กำหนดเวลาส่งมอบงานภายใน 30 วัน นับถัดจากวันเริ่มทำสัญญา จำเลยที่ 2 ตกลงจ้างเหมาจำเลยที่ 3 ติดตั้งสัญลักษณ์จราจรดังกล่าว เป็นเงิน 100,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 14 เมษายน 2547 ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำบันทึกรายงานการก่อสร้างประจำวันโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน วันที่ 29 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 3 มีหนังสือขอส่งมอบงานต่อจำเลยที่ 2 ว่า ทำการแล้วเสร็จถูกต้องตามสัญญาจ้าง ขอให้คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงาน หากถูกต้องแล้วขอให้เบิกจ่ายเงินให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 2 ว่า เห็นควรแจ้งคณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงานจ้างเพื่อเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาต่อไป จำเลยที่ 2 แจ้งคณะกรรมการตรวจการจ้างทราบ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำบันทึกเสนอประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างว่าได้ควบคุมงานตั้งแต่วันที่ผู้รับเหมาเริ่มทำงานและผู้รับเหมาทำงานเสร็จเรียบร้อยถูกต้องเป็นไปตามรายละเอียดแบบแปลนขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ วันที่ 31 มีนาคม 2547 คณะกรรมการตรวจการจ้างเสนอจำเลยที่ 2 ว่า ผู้รับเหมาส่งมอบงานถูกต้องครบถ้วนตามแบบ รูป และรายละเอียดทุกประการ สมควรเบิกจ่ายเงิน 100,000 บาท ให้ผู้รับเหมา จำเลยที่ 2 จึงอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินให้ผู้รับเหมา วันที่ 2 เมษายน 2547 มีการเบิกจ่ายเงิน 100,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย 1,000 บาท โดยการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสียสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น กับจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนกระทำความผิดฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 ปัญหาต้องพิจารณามีว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ทำและจัดการเงินจำนวน 100,000 บาท ที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินการโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอมีมติอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินการโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน เป็นเงิน 100,000 บาท แล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุเสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 แม้ข้อเท็จจริงทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการทรัพย์ของโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านก็ตาม แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 5 ให้คำนิยาม เจ้าหน้าที่พัสดุ หมายความว่า พนักงานส่วนตำบลหรือข้าราชการอื่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประธานกรรมการบริหารแต่งตั้งหรือมอบหมายให้มีหน้าที่หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัสดุตามระเบียบนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการเงินจำนวน 100,000 บาท ที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติแล้ว การที่จำเลยที่ 1 เสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำและจัดการทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานทำหรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ปัญหาต้องพิจารณามีว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ซื้อ จ้างโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใด อย่างไร ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล กับมีอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ส่วนการซื้อการจ้างโดยวิธีตกลงราคาคดีนี้ ทางไต่สวนได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอรายงานขอจ้างติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ให้ความเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) และเมื่อวินิจฉัยข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ หรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ทั้งเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ 3 โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน เห็นว่า โทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้น เป็นอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่ำกว่านี้ได้อีก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคำเบิกความของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นควรลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม ส่วนที่จำเลยที่ 3 ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการช่วยส่งเสริมให้เจ้าพนักงานกระทำโดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอและมีผลกระทบต่องบประมาณของรัฐในการพัฒนาประเทศทำให้รัฐต้องเสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ลำพังจำเลยที่ 3 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องรับผิดชอบต่อบุพการี ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์จำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์