
ฟ้องหย่าในกรณีหย่าโดยความยินยอม ตามบันทึกข้อตกลง
ฟ้องหย่า สามารถ เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงชีพ แบ่งสินสมรส อำนาจปกครองบุตร แบ่งสินสมรส
การฟ้องหย่ามีขั้นตอนอย่างไร เรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินส่วนใดได้บ้าง
สารบัญ
เหตุที่จะฟ้องหย่าได้มีอะไรบ้าง?
เหตุที่จะฟ้องหย่าได้มี ๑๐ ประการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๖ มีดังต่อไปนี้ คือ
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณี กับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อน เกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
การฟ้องหย่ามีสิทธิเรียกร้องอะไรได้บ้าง?
สามารถเรียกร้องได้ดังต่อไปนี้
1.เรียกค่าทดแทน หากฟ้องหย่าสามีหรือฟ้องหย่ากรรยา ด้วยสาเหตุว่าเป็นชู้หรือมีชู้ นอกจากจะสามารถฟ้องหย่าได้แล้ว ยังสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน ได้จากตัวสามี ภรรยาคู่สมรส รวมทั้งตัวหญิงชู้หรือชายชู้ที่เป็นเหตุหย่าได้ หรือหากเรายังไม่ต้องการฟ้องหย่า ก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้แต่เพียงอย่างเดียวได้ เช่นกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523
2.เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร หากคู่สมรสมีบุตรด้วยกัน และบุตรอยู่ในความดูแลของฝ่ายที่ฟ้องหย่า ฝ่ายที่ฟ้องหย่าย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรตามสมควรไปพร้อมกับการฟ้องหย่าได้ด้วย ส่วนค่าเลี้ยงดูบุตรจะเรียกร้องได้เท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีไปครับ
3.เรียกค่าเลี้ยงชีพ ถ้าเหตุหย่านั้นเกิดจากความความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีชู้ หรือ ละทิ้งร้างคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คู่สมรสฝ่ายที่ฟ้องหย่าย่อมมีสิทธิฟ้องค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย ทั้งนี้สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพนั้น คู่สมรสจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเข้าไปในคดีหย่าเท่านั้น ถ้าไม่ได้ฟ้อง จะมาฟ้องหรือเรียกร้องภายหลังไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น
ทั้งนี้หากคู่สมรสฝ่ายที่ได้รับคำเลี้ยงชีพ จดทะเบียนสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพจะสิ้นไปทันที ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1528
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1528
ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป
4.เรียกแบ่งสินสมรส ในคดีฟ้องหย่า คู่สมรสสามารถฟ้องแบ่งหรือเรียกร้องให้แบ่งสินสมรสไปพร้อมกันในคราวเดียวกันเลย เพียงแต่จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมตามทุนทรัพย์ที่ขอแบ่ง โดยปกติแล้วเกือบทุกคดีที่มีสินสมรสด้วยกัน จะฟ้องแบ่งสินสมรสเข้าไปพร้อมคดีหย่าอยู่แล้ว เพราะทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยา เมื่อหย่ากัน ต้องแบ่งสินสมรสคนละส่วนเท่าๆกัน ตามป.พ.พ.มาตรา ๑๕๓๓ แต่เมื่อยังไม่ได้แบ่งกัน กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์รวม โดยถือว่าสามี ภริยาเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน
หากหย่าแล้วสามีหรือภริยา ไม่ดำเนินการแบ่งให้ถูกต้อง หรือขายทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสนั้น ให้แก่บุคคลภายนอก โดยอีกฝ่ายไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย แม้บุคคลภายนอกนั้นจะรับซื้อโดยสุจริต ก็ตาม ก็ไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ในส่วนของอีกฝ่ายที่ไม่ได้ยินยอม ตาม ปพพ.มาตรา ๑๓๖๑ วรรคสอง ฝ่ายที่เสียหายจึงสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายสินสมรสระหว่างคู่สมรสฝ่ายนั้นและบุคคลภายนอกได้ โดยไม่มีกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๖
สามีหรือภริยาติดคุกสามารถฟ้องหย่าได้หรือไม่
สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ ถือเป็นเหตุหย่าตาม มาตรา ๑๕๑๖(๔/๑)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11702/2555เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๑๖(๔/๑) ที่ว่า “สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้” ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยต้องโทษจำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน ๑ ปี หากจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรเพราะเหตุจำเลยต้องถูกจำคุกอีกต่อไป เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน ๑ ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖(๔/๑)ได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน ๑ ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง ๕ ปี ดังนั้นความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๑๖(๔/๑)
ฟ้องหย่าเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด
ค่าขึ้นศาล ๒๐๐ บาท ค่าส่งนำส่งหมายคำคู่ความประมาณ ๕๐๐ ถึง ๗๐๐ บาท หากมีการฟ้องแบ่งสินสมรสหรือเรียกค่าเสียหาย หรือค่าทดแทนด้วย เสียค่าขึ้นศาลร้อยละ ๒ ของทุนทรัพย์ที่ฟ้อง
ตาม มาตรา ๑๕๒๖ ในคดีหย่าถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/51 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๕๒๗ ถ้า หย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา ๑๕๑๖(๗)หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๕๑๖(๙) คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่ เป็นโรคติดต่อนั้นโดยคำนวณค่าเลี้ยงชีพอนุโลมตามมาตรา ๑๕๒๖
ค่าทดแทนกรณีเป็นชู้ >>
มี ๒ กรณี คือ
๑.ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่าย และจากหญิงอื่น หรือชู้ ตาม มาตรา ๑๕๒๓ วรรค ๑ โดยจะต้องฟ้องหย่าด้วยจึงจะมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทน
๒.ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากชู้ตามอย่างเดียว มาตรา ๑๕๒๓ วรรค ๒ โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องหย่าด้วย มาตรา ๑๕๒๓ วรรคสอง
ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๕๒๓ ที่บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตาม มาตรา ๑๕๑๖(๑) ภริยาหรือสามี มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยก ย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และ ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตน มีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
ฟ้องหย่าและขอแบ่งทรัพย์สิน แบ่งสินสมรส
เมื่อฟ้องหย่าสามารถฟ้องแบ่งสินสมรสด้วยได้ เพราะ ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยา เมื่อหย่ากัน ต้องแบ่งสินสมรสคนละส่วนเท่าๆกัน ตามป.พ.พ.มาตรา ๑๕๓๓ แต่เมื่อยังไม่ได้แบ่งกัน กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์รวม โดยถือว่าและสามี ภริยาเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน
หากหย่าแล้วสามีหรือภริยา ไม่ดำเนินการแบ่งให้ถูกต้อง หรือ ขายทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสนั้น ให้แก่บุคคลภายนอก โดยอีกฝ่ายไม่ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย แม้บุคคลภายนอกนั้นจะรับซื้อโดยสุจริตก็ตาม ก็ไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ในส่วนของ อีกฝ่ายที่ไม่ได้ยินยอม ตาม ปพพ.มาตรา ๑๓๖๑ วรรคสอง ฝ่ายที่เสียหายจึงสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายสินสมรสระหว่างคู่สมรสฝ่ายนั้นและบุคคลภายนอกได้ โดยไม่มีกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๖
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องในคดี และต้องเตรียมมา มีดังนี้
1. ใบสำคัญการสมรส
2. สูติบัตรหรือทะเบียนบ้านของบุตรทุกคน กรณีมีบุตรด้วยกัน
3. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล ทั้งของสามีกรรยาและบุตร กรณีมีการเปลี่ยนชื่อนามสกุล
4. ทะเบียนบ้านที่สามี ภรรยา และบุตร พักอาศัยอยู่ด้วยกัน
5.สำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาพาสปอร์ตหนังสือเดินทางของตนเองและคู่สมรส (ของคู่สมรสไม่จำเป็นเท่าไหร่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร)
6. หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่จะฟ้องหย่า เช่น หลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรม line หรือ face book รูปถ่ายคู่สมรสกับชู้ คลิปเสียงหรือคลิปวิดีโอเหตุการณ์ต่างๆ เป็นต้น
7. หลักฐานเกี่ยวกับสินสมรส เช่น โฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีผู้ถือหุ้น สมุดบัญชีธนาคาร เป็นต้น (เฉพาะกรณีที่มีประเด็นเรื่องการแบ่งสินสมรสด้วย)
8. หลักฐานเกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ เช่นหลักฐานการศึกษา การส่งเสียเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ (เฉพะคดีที่มีประเด็นเรื่องอำนาจปกครองบุตร)
ถ่ายสำเนาเอกสารอย่างละ 2 ฉบับ ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาความถูกต้องในเอกสารทุกฉบับ ส่วนเอกสารตัวจริงต้องนำมาในวันขึ้นศาลเท่านั้น
ข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่ต้องเตรียมมาในการฟ้องหย่ามีอะไรบ้าง?
ประวัติส่วนตัวของทั้งตัวคุณและคู่สมรส เช่น เป็นคนที่ไหน จบการศึกษาที่ไหน อาชีพอะไร พักอาศัยอยู่ที่ไหน ฯลฯ
– เริ่มรู้จักคบหากับคู่สมรสตั้งแต่เมื่อไหร่
– จดทะเบียนสมรสกันเมื่อไหร่
– อยู่กินกันมาที่ไหนบ้าง และปัจจุบันอยู่กินด้วยกันไหม
– มีบุตรด้วยกันไหม
– ใครเป็นคนเลี้ยงดูบุตร และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตร
– มีทรัพย์สินระหว่างสมรสด้วยกันหรือไม่
– สาเหตุที่จะฟ้องหย่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เล่าแบบละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ อาจจะพิมพ์เรื่องราวรายละเอียดดังกล่าวที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์และรวดเร็วในการจัดทำคำฟ้องหย่า
จะสามารถยื่นฟ้องหย่าได้ที่ศาลไหนได้บ้าง?
ต้องฟ้องที่ “ศาลเยาวชนและครอบครัว” เท่านั้น ส่วนสถานที่นั้นสามารถฟ้องได้ 2 สถานที่ด้วยกันคือ
1.สถานที่ที่มูลคดีเกิด
คำว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึงสถานที่ที่เกิดเหตุทำให้ฟ้องหย่านั่นเอง เช่น สถานที่ที่พบเห็นหรือเกิดการกระทำเป็นชู้ สถานที่ที่คู่สมรสทำร้ายร่างกาย สถานที่ที่เริ่มแยกกันอยู่ เป็นต้น หากว่ามูลคดีที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าเกิดขึ้นที่ไหนก็สามารถฟ้องคดีได้ที่ศาลนั้น เช่น เห็นการเป็นชู้ที่จังหวัดสิงห์บุรี ก็สามารถฟ้องหาได้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสิงห์บุรี แม้ว่าคู่สมรสจะอยู่กินกันที่จังหวัดอื่นก็ตาม
2.สถานที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่
คำว่า “ภูมิสำเนา” หมายถึงสถานที่ที่จำเลยมีที่อยู่เป็นประจำ หรือที่ปรากฎตามทะเบียนบ้าน
คำว่าจำเลยในที่นี้ หมายความรวมถึงตัวคู่สมรสที่ฟ้องหย่า รวมทั้งตัวหญิงชู้หรือชายชู้ในกรณีที่ฟ้องชู้ด้วย เช่น สามีมีภูมิสำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนหญิงชู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี เหตุการณ์ที่ คบชู้เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถฟ้องคดีได้ทั้งที่กรุงเทพฯซึ่งเป็นภูมิลำเนาของสามี รวมทั้งจังหวัดสิงห์บุรีที่เป็นภูมิลำเนาของหญิงชู้ และที่จังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นสถานที่มูลคดีเกิด
จะฟ้องหย่าสามีต่างชาติ หรือฟ้องหย่าภริยาต่างชาติ มีขั้นตอน กระบวนการ อย่างไรบ้าง?
การฟ้องหย่าชาวต่างชาติ ในกรณีที่เรามีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ หรือในกรณีที่คุณเป็นคนต่างชาติและต้องการฟ้องหย่าคู่สมรสชาวไทย มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนคล้ายกับการฟ้องหย่าคนไทยด้วยกันตามปกติแต่จะมีข้อกฎหมายและขั้นตอนที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมมา ก็คือ
1.กฎหมายหย่าของประเทศคู่สมรส
พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ.ศ.2481 ม.24 วางหลักไว้ว่า “ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า ” หมายความว่าในคดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติ หรือคดีที่ชาวต่างชาติฟ้องหย่าคนไทย หรือชาวต่างชาติฟ้องหย่ากันเองในศาลของประเทศโทย โจกก์จะต้องนำสืบว่ากฎหมายของประเทศของสัญชาติโจทก์หรือจำเลยนั้น ไม่ขัดกับกฎหมายของประเทศไทย กล่าวคือจะต้องนำสืบว่า ตามกฎหมายของประเทศสัญชาติโจทก์หรือจำเลยนั้น ยอมให้ทั้งสองฝ่ายสามารถฟ้องหย่า หรือหย่าขาดจากกันได้ ทั้งนี้เพราะในบางประเทศที่เคร่งศาสนามาก คู่สมรสหากจดทะเบียนสมรสกันแล้ว จะไม่สามารถหย่าขาดกันได้เลย เช่นนี้ศาลไทยก็ไม่สามารถพิพากษาให้ทั้งสองฝ่ายสามารถให้ฟ้องหย่ากันได้
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ในปัจจุบันแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างผ่อนปรนความเคร่งครัดทางศาสนา และอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาด หรือฟ้องหย่ากันได้อยู่แล้ว ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องกังวลข้อกฎหมายนี้แต่อย่างใด ส่วนสาเหตุการหย่านั้น ให้พิจารณาตามบทกฎหมายแห่งถิ่นที่ฟ้องหย่าคือตามกฎหมายแห่งประเทศไทยอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปพิจารณาถึงเหตุฟ้องหย่าของกฎหมายต่างประเทศ
ตัวอย่างเช่น
ตามกฎหมายของประเทศไทยหากคู่สมรสแยกกันอยู่กันเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้ หากเราฟ้องหย่าคู่สมรสซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษแล้ว ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ สมมุติว่าจะต้องแยกกันอยู่เกินกว่า 10 ปี ถึงจะฟ้องหย่าได้ เช่นนี้การพิจารณาเหตุในการฟ้องหย่า ให้พิจารณาเฉพาะตามกฎหมายไทยเท่านั้นกล่าวคือหากแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปี สามารถฟ้องหย่าได้แล้วไม่ต้องรอถึง 10 ปี ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557 , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2557 เป็นต้น
2.การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
การฟ้องหย่าคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ หากคู่สมรสนั้นยังพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย การฟ้องก็ไม่ต่างกับคดีทั่วไป กล่าวคือการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ก็สามารถขอให้ศาลส่งให้ตามภูมิลำเนาของจำเลยในประเทศไทยได้เลย แต่หากคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ และเดินทางกลับประเทศของตนเองไปแล้ว ไม่ได้อยู่อาศัยในประเทศไทย และไม่มีภูมิสำเนาอยู่ในประเทศไทยจะมีกระบวนการต้องส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปยังต่างประเทศ ผ่านกระบวนการของศาลเป็นวิธีพิเศษ พร้อมต้องแปลคำฟ้องเป็นภาษาตามสัญชาติของคู่สมรสด้วย ซึ่งกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากปกติประมาณ 5,000 บาทเป็นค่าแปลและค่าจัดส่งเอกสาร และอาจจะใช้เวลาทำการมากกว่าคดีปกติประมาณ 1-2 เดือน