
ผู้เยาว์ คือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งบุคคลที่บรรลุนิติภาวะนั้น หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ (ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 19) หรือแม้อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ แต่ได้สมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย ก็ถือว่าบุคคลนั้นบรรลุนิติภาวะแล้วเช่นกัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20)
โดยหลักแล้วการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมด้วยตนเอง โดยปราศจากความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมหรือบิดามารดา ถือว่าเป็นการทำนิติกรรมโดยบกพร่องในเรื่องความสามารถ ส่งผลให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 และมาตรา 153) ซึ่งนิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น หมายถึง นิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย แต่อาจถูกบอกล้างได้ และเมื่อมีการบอกล้างแล้วนิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรก เสมือนไม่ได้ทำนิติกรรมกันเลย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176)
หากบุตรผู้เยาว์ทำนิติกรรมเอง แล้วผลเป็นโมฆียะ บิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมจะทำนิติกรรมนั้นแทนบุตรผู้เยาว์ได้หรือไม่ ?
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ได้กำหนดไว้ว่า นิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ดังต่อไปนี้ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) กระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี
(6) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
(7) ให้กู้ยืมเงิน
(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้ผู้แทนเพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
(9) ให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
(10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
(12) ประนีนอมยอมความ
(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
นิติกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนนั้น หากผู้ใช้อำนาจปกครองกระทำโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 จะไม่ได้บัญญัติผลของการฝ่าฝืนไว้ แต่ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ได้วินิจฉัยไว้ว่าเป็นนิติกรรมที่ทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลผูกพันตัวผู้เยาว์ และถือเป็นสิทธิของผู้เยาว์ที่จะยกขึ้นอ้างว่านิติกรรมนั้นไม่มีผลผูกพันตนได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2561 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2564)