จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 147, 151, 157, 161, 264, 265, 266, 268, 352
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4347/2558 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า ในการออกไปจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้สถานที่เอกชนเพื่อทำการประกอบ ปรุง สะสมอาหาร ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้สถานที่ประกอบกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพ ตามฟ้องรายการที่ 2 ถึงที่ 30 นั้น บางครั้งจำเลยทั้งสองออกไปจัดเก็บร่วมกัน บางครั้งจำเลยที่ 2 ออกไปจัดเก็บคนเดียว จำเลยที่ 2 จะเขียนใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระค่าธรรมเนียมและผู้ชำระค่าภาษีตามจำนวนเงินที่ชำระจริง ส่วนต้นขั้วใบเสร็จรับเงินนั้น จำเลยที่ 2 เขียนจำนวนเงินต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วส่งมอบแก่ผู้เสียหายเพียงเท่ากับจำนวนเงินในใบเสร็จรับเงินฉบับต้นขั้ว จำเลยที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมา ว่าในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดจำนวนเงินที่จะจัดเก็บในแต่ละราย และจะเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินที่จะเขียนลงในสำเนาใบเสร็จรับเงิน (ต้นขั้ว) ที่จะนำส่งคลังเทศบาลตำบลจักราช เงินส่วนต่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้แบ่งให้จำเลยที่ 2 บ้าง พาไปเลี้ยงอาหารบ้าง เงินส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 จะแบ่งให้ใครเท่าใดนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ทราบ ตามบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 2 และนายสุทธิพงษ์ เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน 6 ผู้ตรวจสอบสืบสวนการทุจริตของเทศบาลตำบลจักราช เบิกความเป็นพยานโจทก์รับรองข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์ประกอบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ให้ผู้เสียหายมานานตั้งแต่ผู้เสียหายยังมีฐานะเป็นสุขาภิบาล จนกระทั่งยกระดับเป็นเทศบาล ตามคำสั่งผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมทราบอัตราค่าธรรมเนียมและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินดี ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 เขียนใบเสร็จรับเงินฉบับต้นขั้วต่ำกว่าอัตราค่าธรรมเนียมดังเช่น ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตให้ตั้งหรือใช้สถานที่เอกชนเป็นที่ขาย ทำ ประกอบ ปรุง สะสมอาหาร ตามข้อบังคับผู้เสียหาย มีค่าธรรมเนียมต่ำสุด 200 บาท แต่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวส่งต่อผู้เสียหายเพียง 100 บาท จำเลยที่ 1 ย่อมทราบถึงความไม่ถูกต้องดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยโต้แย้ง ทั้งใบเสร็จรับเงินดังกล่าวต้องลงนามจำเลยที่ 2 ผู้รับเงิน และจำเลยที่ 1 สมุห์บัญชีด้วยกัน ดังนั้นฐานะตำแหน่งหน้าที่การงานของจำเลยที่ 2 โดยลำพังไม่อาจกระทำความผิดตามฟ้องได้ พฤติการณ์แห่งคดีรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 บงการให้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องรายการที่ 2 ถึงที่ 30 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 กระทำเอง จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดทุกกระทงตามฟ้อง ฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อ 2 ที่ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 3) คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ได้ลอกข้อความจากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2 คำต่อคำ จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลล่างทั้งสองลงโทษอย่างเจ้าพนักงานซึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 161 ประกอบมาตรา 86, 266 (1), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1), 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่เทศบาล จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 29 กระทง เป็นจำคุก 87 ปี 116 เดือน เมื่อรวมทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3